สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI เดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ เตรียมจัดงานประชุม The 6th International Conference on Big Data Analytics and Practices (IBDAP2025) ต่อเนื่องปีที่ 6 เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักวิจัย นักวิชาการ และผู้ประกอบการจากทั่วโลกในการเผยแพร่ผลงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และส่งเสริมนวัตกรรมด้านการวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ มุ่งสู่การยกระดับขีดความสามารถของประเทศในการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างยั่งยืนในอนาคต พร้อมเชิญชวนนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจด้าน Big Data Analytics ร่วมส่งบทความวิจัยนำเสนอในงานประชุมวิชาการดังกล่าวฯ ที่จะขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 3 สิงหาคม 2568 ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ จังหวัดเชียงใหม่
รศ. ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) กล่าวว่า “การประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้สะท้อนบทบาทสำคัญของ BDI ในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Data-Driven Nation อย่างแท้จริง เรามุ่งใช้ข้อมูลขนาดใหญ่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านการเชื่อมโยง วิเคราะห์ และสร้างคุณค่าจากข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยงานประชุมครั้งนี้ไม่เพียงเปิดเวทีให้นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และบทเรียนจากการใช้งานจริง แต่ยังโชว์ศักยภาพของข้อมูลในการต่อยอดนวัตกรรมในสาขาต่างๆ เช่น ระบบอัจฉริยะ การแพทย์ ปัญญาประดิษฐ์ และ Machine Learning ซึ่งล้วนเป็นรากฐานสำคัญของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างยั่งยืน”
สำหรับการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านการวิเคราะห์และการประยุกต์ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ นับเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เปิดพื้นที่สำหรับการอภิปรายประเด็นสำคัญของวงการ พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจด้าน Big Data จากทั่วโลก
โดย The 6th International Conference on Big Data Analytics and Practices (IBDAP2025) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1–3 สิงหาคม 2568 ณ โรงแรมไอบิส สไตล์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดรับบทความวิจัยเพื่อนำเสนอภายในงาน โดยบทความที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการตีพิมพ์ใน IEEE Xplore ฐานข้อมูลทางวิชาการระดับสากลที่ได้รับการยอมรับในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
ไม่เพียงเป็นช่องทางเผยแพร่องค์ความรู้ แต่ยังเชื่อมโยงนักวิจัยกับเครือข่ายระดับนานาชาติ ให้สามารถติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้แบบเรียลไทม์ พร้อมรองรับการศึกษาค้นคว้า อ้างอิง และต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างยั่งยืน