BDI จับมือ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ภูเก็ต จัดแข่งขัน “Durian Hackathon 2025” ครั้งแรก เฟ้นหาสุดยอดนักพัฒนา AI พลิกโฉมวงการเกษตร

สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ร่วมกับ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดการแข่งขัน “Durian Hackathon 2025” เวทีประชันไอเดียระดับประเทศครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ระหว่างวันที่ 15 – 16 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมที่ช่วยยกระดับภาคการเกษตร หนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

การแข่งขันครั้งนี้ เต็มไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่น โดยมีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อแสดงศักยภาพ พร้อมนำเสนอแนวทางที่สามารถเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยให้ตอบโจทย์ความท้าทายแห่งยุคดิจิทัล โดยทีมที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “เขามันวินเทจ เรามันเกษตรอินทรีย์” ซึ่งโดดเด่นด้วยแนวคิดที่ผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ผลงานนี้สะท้อนถึงเป้าหมายของการแข่งขันที่มุ่งผลักดันภาคเกษตรไทยให้เติบโตและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในอนาคต

ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการจัดกิจกรรม กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของ BDI คือ การพัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้าน Big Data และ AI ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงภาคเกษตร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและสังคมไทย

Durian Hackathon 2025 คือ กิจกรรมความร่วมมือระหว่าง BDI และ วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วประเทศ ได้เรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ภายใต้การดูแลและให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ โดยไฮไลต์สำคัญของงาน คือ การแข่งขัน Hackathon ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้เทคโนโลยีจริงในการแก้ปัญหาทางการเกษตร

กิจกรรมนี้ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 86 คน จาก 11 จังหวัด แบ่งออกเป็น 21 ทีม ที่มาจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษา นักวิจัย เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล และนักกลยุทธ์ โดยแต่ละทีมประกอบด้วย ผู้ที่มีทักษะทางการวิเคราะห์ข้อมูล และเกษตรกรตัวจริงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเทคโนโลยีและประสบการณ์จริง

สำหรับโจทย์การแข่งขันในปีนี้ คือ การวิเคราะห์ภาพถ่ายต้นทุเรียนเพื่อพยากรณ์โรค โดยใช้ข้อมูลจากพื้นที่เพาะปลูกจริง ผู้เข้าแข่งขันต้องเริ่มต้นจากการตรวจสอบความสมบูรณ์ของชุดข้อมูล ค้นหาความผิดปกติ ปรับแต่งและทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleaning) ให้พร้อมใช้งาน สำหรับการนำไปพัฒนาโมเดลพยากรณ์ แล้วจึงทำการเลือกอัลกอริทึมที่เหมาะสมสำหรับพยากรณ์ พัฒนา ปรับแต่ง จนได้โมเดลพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ระหว่างการแข่งขัน พบว่า แต่ละทีมสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างกัน และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่หลากหลาย รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาโมเดลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เป้าหมายสำคัญของการจัดกิจกรรมนี้ คือ การพัฒนะทักษะด้าน Big Data และ AI รวมทั้งการสร้างโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง พร้อมยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล การแข่งขันนี้ไม่เพียงปลุกกระแส AI ในภาคเกษตรไทย แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อเสริมศักยภาพให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต” ดร.สุนทรีย์ กล่าวปิดท้าย

รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี ม.อ.ภูเก็ต กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Computer Vision สำหรับการเกษตร โดยเฉพาะในกลุ่ม Smart Farmer และ Young Smart Farmer ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม เทคโนโลยี AI และ Computer Vision สามารถมาช่วยพัฒนา การตรวจจับและแยกแยะวัตถุในภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ และการคาดการณ์โรคพืช นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม

****ผลการแข่งขัน Durian Hackathon 2025***
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม เขามันวินเทจ เรามันเกษตรอินทรีย์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ArgriTech
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม นั่งจุ๊ย
รางวัลชมเชย 1 ได้แก่ ทีม No Durian No Life
รางวัลชมเชย 2 ได้แก่ ทีม หยิบทุเรียนมาตัว ๆ กันป่าว
ประกาศนียบัตรสำหรับทีมมุ่งมั่นพยายามสูงสุด ได้แก่ ทีม อ้ายมาห้าคน
ประกาศนียบัตรสำหรับทีมอายุน้อยที่สุด ได้แก่ ทีม Manta Ray By KS

เจนตา วงศ์เลิศสกุล ผู้แทนจากทีมเขามันวินเทจ เรามันเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ความท้าทายของการแข่งขันครั้งนี้ คือ การจัดการกับชุดข้อมูลที่มีข้อจำกัด ทั้งปริมาณที่น้อยและมีหลาย Label ในบางส่วน การแก้ปัญหานี้ทำให้ได้ประสบการณ์ในการจัดการกับข้อมูลประเภทนี้ ซึ่งนำไปสู่การลองใช้วิธี Clustering เพื่อช่วยในการจัดกลุ่มข้อมูล ก่อนนำไป Train Model เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานที่ซับซ้อนในอนาคตได้ นอกจากทักษะด้านข้อมูลแล้ว กิจกรรมนี้ยังสอนให้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญไม่แพ้กันอีกด้วย

Scroll to Top