ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส 2 แต่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น สาเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ความกังวลในการผลักดันนโยบายของรัฐบาลผสม รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ชี้อุปสงค์ในประเทศได้รับอิทธิพลจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ระบุผู้ประกอบการคาดหวังให้ภาครัฐผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวางแผนธุรกิจ และดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดระบบนิเวศด้านดิจิทัลในประเทศ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ไตรมาส 3 ประจำปี 2566 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 53.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.1 ของไตรมาสที่ผ่านมาและยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น ซึ่งปัจจัยด้านผลประกอบการ ด้านปริมาณการผลิตฯ ด้านการจ้างงาน ด้านคำสั่งซื้อฯ และด้านการลงทุน ปรับตัวลดลง ขณะที่ปัจจัยด้านต้นทุนผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและความไม่แน่นอนทางการเมือง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางประการของบริษัทที่ส่งผลให้ปริมาณความต้องการอุปกรณ์ดิจิทัลลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว กลับกันอุปสงค์ภายในประเทศได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่น
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า เกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ สูงกว่าระดับ 50 ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อยู่ที่ระดับ 51.3 กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 56.9 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 53 และ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 52.4 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 47.6 ในไตรมาสนี้
“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยผลักดันให้การกำกับเกิดความชัดเจน และดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถแข่งขันได้ กระตุ้นการใช้จ่ายด้านดิจิทัลของภาครัฐผ่านบัญชีบริการดิจิทัล รวมถึงการเร่งออกมาตรการดึงดูดกำลังคนด้านดิจิทัลจากต่างประเทศและเร่งพัฒนากำลังคนในประเทศ”